กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี
แนวทางการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้
การงานอาชีพและเทคโนโลยี
การจัดการเรียนรู้เป็นกระบวนการสำคัญในการนำหลักสูตรสู่การปฏิบัติ หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช ๒๕๕๑ เป็นหลักสูตรที่มีมาตรฐานการเรียนรู้ สมรรถนะสำคัญและคุณลักษณะอันพึงประสงค์ของผู้เรียน เป็นเป้าหมายสำหรับพัฒนาเด็ก และเยาวชน
การพัฒนาผู้เรียนในกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ให้มีคุณสมบัติ ตามเป้าหมายหลักสูตร และเพื่อให้การจัดการเรียนรู้เป็นการเรียนรู้ที่มีความหมายแก่ผู้เรียน ครูผู้สอนจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องให้ความสำคัญกลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี เทียบเท่ากับกลุ่มสาระการเรียนรู้อื่น ๆ พยายามคัดสรรกระบวนการเรียนรู้ จัดการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเรียนรู้จากประสบการณ์ในบริบทประจำวันที่สอดคล้องกับความสนใจและพัฒนาการของผู้เรียน จะเป็นผลดีต่อผู้เรียนให้สามารถสร้างองค์ความรู้ พัฒนาทักษะการทำงานให้มีทักษะพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต ปลูกฝังเสริมสร้างคุณลักษณะอันพึงประสงค์ พัฒนาทักษะต่างๆ อันเป็นสมรรถนะสำคัญ
ให้ผู้เรียนสามารถพึ่งตนเอง ดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างพอเพียงและมีความสุข
กระบวนการเรียนรู้
การจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ ผู้เรียนจะต้องอาศัยกระบวนการเรียนรู้ที่หลากหลาย และกระบวนการเรียนรู้ตามธรรมชาติวิชา เป็นเครื่องมือที่จะนำพาผู้เรียนไปสู่เป้าหมายของหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ที่จำเป็นสำหรับผู้เรียน อาทิ กระบวนการเรียนรู้แบบบูรณาการ กระบวนการสร้างความรู้ กระบวนการคิด กระบวนการทางสังคม กระบวนการทำงานกระบวนการเผชิญสถานการณ์และแก้ปัญหา กระบวนการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง กระบวนการปฏิบัติลงมือทำจริง กระบวนการจัดการ กระบวนการพัฒนาลักษณะนิสัย กระบวนการเหล่านี้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนรู้ที่ผู้เรียนควรได้รับการฝึกฝน พัฒนา เพราะจะสามารถช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ได้ดี บรรลุเป้าหมายของหลักสูตร ดังนั้น ผู้สอน จึงจำเป็นต้องศึกษาทำความเข้าใจในกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ เพื่อให้สามารถเลือกใช้ในการจัดกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลวิธีการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้การงานอาชีพและเทคโนโลยี ดังนี้
๑) จัดการเรียนรู้ให้ครบองค์รวมของการพัฒนาตามศักยภาพผู้เรียนคือ ต้องมีความรู้ทักษะ / กระบวนการ เจตคติ คุณธรรม จริยธรรม
๒) การจัดการเรียนรู้ต้องเป็นไปตามโครงสร้างการเรียนรู้ของกลุ่มการงานอาชีพและเทคโนโลยีทั้ง ๗ หัวข้อ
๒.๑ ความหมายของงาน
๒.๒ ความสำคัญและประโยชน์ของงาน
๒.๓ มีทฤษฎีสนับสนุนหลักการของงาน
๒.๔ วิธีการและขั้นตอนของการทำงาน
๒.๕ กระบวนการทำงาน การจัดการ เทคโนโลยีสารสนเทศและแนวทางในการประกอบอาชีพ
๒.๖ การนำเทคโนโลยี เทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการทำงาน การสร้างและพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือวิธีการใหม่ ๆ
๒.๗ เจตคติ คุณธรรม จริยธรรมในการทำงานและการประกอบอาชีพ
ผู้สอนสามารถสอนแต่ละครั้งครบหรือไม่ทั้ง ๗ หัวข้อก็ได้ขึ้นอยู่กับลักษณะงาน แต่ทั้งนี้จะต้องสอนครบทั้งด้านความรู้ ด้านทักษะ / กระบวนการ ด้านเจตคติ คุณธรรม จริยธรรม
๓) การจัดการเรียนรู้ โดยผู้สอนสามารถนำความรู้ ทักษะ / กระบวนการ เจตคติ คุณธรรม จริยธรรม จากสาระภายในกลุ่มมาบูรณาการกันได้ หรือนำสาระจากกลุ่มวิชาอื่นมาบูรณาการกับสาระของกลุ่มการงานอาชีพและเทคโนโลยีก็ได้
๔) จัดการเรียนรู้ได้ทั้งภายในชั้นเรียน นอกชั้นเรียน โดยจัดในสถานปฏิบัติงานแหล่งสถานวิทยาการ สถานประกอบการ สถานประกอบอาชีพอิสระ ฯลฯ
๕) จัดการเรียนรู้โดยกระตุ้นให้ผู้เรียนกำหนดงานที่มีความหมายกับผู้เรียน ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนเห็นประโยชน์ ความสำคัญ เห็นคุณค่า ย่อมทำให้เกิดความภาคภูมิใจในการปฏิบัติงาน
๖) จัดการเรียนรู้โดยผู้สอนต้องคำนึงถึงความต้องการ ความสนใจ ความพร้อมทางร่างกาย อุปนิสัย สติปัญญา และประสบการณ์เดิมของผู้เรียน
รูปแบบการจัดการเรียนรู้
๑) การเรียนรู้จากการปฏิบัติจริง มุ่งเน้นให้ผู้เรียนได้ลงมือทำงานจริง ๆ มีขั้นตอนอย่างน้อย ๔ ขั้นตอน คือ
๑.๑ ขั้นศึกษาและวิเคราะห์
๑.๒ ขั้นวางแผน
๑.๓ ขั้นปฏิบัติ
๑.๔ ขั้นประเมิน / ปรับปรุง
๒) การเรียนรู้จากการศึกษาค้นคว้า เป็นการเรียนที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียน ได้ศึกษาค้นคว้าในเรื่องที่สนใจจากแหล่งความรู้ต่าง ๆ
๓) การเรียนรู้จากประสบการณ์ เป็นการเรียนรู้ที่ประกอบด้วย
๓.๑ ครูผู้สอนสร้างกิจกรรม โดยที่กิจกรรมนั้นอาจจะเชื่อมโยงกับสถานการณ์ของผู้เรียน หรือเป็นกิจกรรมใหม่ หรือเป็นประสบการณ์ในชีวิตประจำวันก็ได้
๓.๒ ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมจากข้อ ๓.๑ โดยการอภิปราย การศึกษากรณีตัวอย่าง หรือการปฏิบัติกิจกรรมนั้น ๆ
๓.๓ ผู้เรียนวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติกิจกรรม ว่าเกิดขึ้นจากสาเหตุใด
๓.๔ สรุปผลที่ได้จากข้อ ๓.๓ เพื่อนำไปสู่หลักการ / แนวคิดของสิ่งที่ได้เรียนรู้
๓.๕ นำหลักการ / แนวคิดจากข้อ ๓.๔ ไปใช้กับกิจกรรมใหม่ หรือกิจกรรมอื่น ๆ หรือสถานการณ์ใหม่ต่อไป
๔) การเรียนรู้จากการทำงานกลุ่ม เป็นการเรียนรู้ที่เปิดโอกาสให้มีการเลือกใช้กระบวนการกลุ่ม กระบวนการแก้ปัญหา กระบวนการสร้างค่านิยม กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด กระบวนการทำงานร่วมกับผู้อื่น ฯลฯ ในการจัดการเรียนรู้ให้ประสบผลสำเร็จ