กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

แนวการจัดการเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย

การจัดการเรียนรู้ตามหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เป็นการจัดการเรียนรู้ที่มุ่งสร้างสติปัญญาและพัฒนาทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ  การคิดสร้างสรรค์และการคิดอย่างมีวิจารณญาณมีความคิดในระดับสูง  และคิดแบบองค์รวม  สามารถคิดสร้างสรรค์ตนเอง  สังคม  ประเทศชาติ  และโลก  นอกจากนั้นยังมุ่งพัฒนาการทางอารมณ์ให้ผู้เรียนเห็นคุณค่าของตนเอง  เข้าใจตนเอง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น  เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในอารมณ์อย่างถูกต้องเหมาะสม  การจัดการศึกษายึดหลักว่า  ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้  และถือว่า  ผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด  กระบวนการจัดการเรียนการสอนจะต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตนเองได้เต็มตามศักยภาพ  ใช้การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

            แนวการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  เป็นแนวความคิดที่มุ่งให้ผู้เรียนเรียนรู้ด้วยตนเอง  เรียนรู้จากการปฏิบัติด้วยวิธีการเรียนรู้ที่หลากหลาย  ผู้สอนจะต้องวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้โดยให้ผู้เรียนใช้แหล่งเรียนรู้และสื่อการเรียนรู้ในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  ผู้เรียนรู้วิธีการเรียนให้ประสบผลสำเร็จ  วิธีการแสวงหาความรู้  วิธีการคิดวิเคราะห์ข้อมูลข่าวสาร  สามารถใช้ทักษะทางภาษาเพื่อการอภิปราย  การรายงาน  การแสวงหาความรู้  สามารถจดบันทึกความรู้  จัดหมวดหมู่ความรู้และเชื่อมโยงความรู้ใหม่และข้อมูลข่าวสารได้อย่างเป็นระบบ  ผู้เรียนจะสามารถพัฒนาตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต  ส่วนตัวผู้สอนปรับบทบาทจากการให้ความรู้โดยการบอก  การบรรยาย  เป็นการวางแผนจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนลงมือทำกิจกรรม  ให้วิธีการเรียนรู้  ให้หลักการของศาสตร์ที่จะส่งเสริมให้ผู้เรียนได้เรียนรู้จากการปฏิบัติและสรุปความรู้  ประเมินผลตนเอง  ปรับปรุงตนเองให้พัฒนาก้าวหน้า  บทบาทของครูเป็นการวางตนให้ศิษย์ไว้วางใจ  น่าเคารพ  และผู้ทรงความรู้  เป็นที่ปรึกษาแก่ศิษย์  รับรู้ความรู้สึกของศิษย์  วางตนเป็นแบบอย่างที่ดีเป็นตัวแบบในการประพฤติปฏิบัติ  การจัดการเรียนรู้ควรคำนึงถึงความสำคัญในเรื่องต่อไปนี้

  1. การเรียนรู้อย่างมีความสุข  เป็นการจัดการเรียนการสอนในบรรยากาศที่เป็นอิสระ  แต่มีระเบียบวินัยในตนเอง  ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล  ผู้เรียนมีวิธีการเรียนรู้อย่างหลากหลาย  ส่งเสริมให้ผู้เรียนประสบผลสำเร็จในการเรียน  เกิดความภาคภูมิใจในผลงานอันเกิดจากผลสำเร็จในการเรียนรู้ของตน  และผู้เรียนได้พัฒนาตนเองเต็มศักยภาพ  แนวทางในการจัดการเรียนการสอน  คือ  บทเรียนที่มีความหมายและเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียน  กิจกรรมเรียนรู้หลากหลาย  ผู้เรียนสามารถปฏิบัติกิจกรรมด้วยตนเอง  มีสื่อการเรียนรู้เหมาะกับความสามารถและน่าสนใจ   การประเมินผลมุ่งเน้นศักยภาพของผู้เรียนเป็นรายบุคคลและรายกลุ่ม  ผู้สอนกับผู้เรียน  และผู้เรียนกับผู้เรียนมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน
  1. การเรียนรู้แบบองค์รวม  เป็นการเรียนรู้จากการบูรณาการสาระการเรียนรู้และกระบวนการเรียนรู้เข้าด้วยกัน  สาระการเรียนรู้จะเรียนจากเรื่องใกล้ตัว  ที่อยู่อาศัย  ท้องถิ่นของตน  สังคม  ประเทศชาติ  สิ่งแวดล้อม  เรื่องของสังคมโลก  การเปลี่ยนแปลงและแนวโน้มที่เกิดขึ้นในสังคมโลก  การเรียนรู้แบบองค์รวมเป็นการบูรณาการความรู้ความเข้าใจเรื่องที่เรียนให้ลึกซึ้งครอบคลุมปัญหา  และมีความหมายต่อการนำไปใช้ในการดำรงชีวิตและการแก้ปัญหาของสังคม
  1. การเรียนรู้จะต้องปรับวัฒนธรรมการเรียนรู้ของผู้เรียน  การเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ผู้เรียนต้องมีลีลาการเรียนรู้  (Learning  Styles)  ของตน  มีอิสระในการเรียนรู้อย่างมีความรับผิดชอบสูง  มีวินัยในตนเอง  หากการเรียนโดยผู้เรียนเป็นสำคัญผู้เรียนขาดระเบียบวินัย  ขาดความเข้มแข็งด้านจริยธรรม  ขาดความรับผิดชอบ  ขาดความอดทน  และความมุ่งมั่นต่อความสำเร็จ  และขาดวินัยในการปฏิบัติงาน  การเรียนการสอนย่อมล้มเหลว  ดังนั้นครูจำต้องปลูกฝังและสร้างวินัยในตนเองควบคู่ไปกับวิธีการเรียนรู้
  1. การเรียนรู้จากการคิดและการปฏิบัติจริง  เป็นการเรียนรู้โดยการประมวลข้อมูลความรู้จากประสบการณ์ต่าง ๆ  มาวิเคราะห์ให้เป็นความรู้ใหม่  วิธีการใหม่  เพื่อนำความรู้และวิธีการไปใช้ในสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างเหมาะสมสอดคล้องกัน  ผู้เรียนจะแสวงหาข้อมูลจากการอ่าน  การสัมภาษณ์  การดูสื่อทางอิเล็กทรอนิกส์  การฟัง  แล้วจดบันทึกข้อมูลนำมาวิเคราะห์  คิดอย่างรอบคอบและนำความรู้ไปปฏิบัติจริง  เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง จากแหล่งเรียนรู้  สื่อ  เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อมรอบตัว  นำมาสรุปผลสร้างความรู้ด้วยตนเอง
  1. การเรียนรู้ร่วมกับบุคคลอื่น  เป็นการเรียนรู้ที่มีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นด้วยการแลกเปลี่ยนข้อมูล  ความรู้  ความคิดและประสบการณ์ซึ่งกันและกัน  ด้วยการนำข้อมูลมาศึกษาทำความเข้าใจร่วมกัน  คิดวิเคราะห์  ตีความ  แปลความ  สังเคราะห์  ข้อมูลและประสบการณ์สรุปเป็นข้อความรู้  ทำให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย  มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน  เป็นการปลูกฝังคุณธรรมการอยู่ร่วมกันและการทำงานร่วมกันทำให้พัฒนา  ทั้งทักษะทางสังคม  และทักษะการทำงานที่ดี
  1. การเรียนรู้โดยมีส่วนร่วมในกระบวนการเรียนและมีส่วนร่วมในผลงาน  เป็นการให้ผู้เรียนร่วมกันวางแผนการเรียนรู้  และปฏิบัติกิจกรรมการเรียนรู้ร่วมกัน  เช่น  การจัดนิทรรศการ  การเขียนความรู้เป็นบทความ  หรือจัดทำสมุดวิเคราะห์ความรู้  จัดทำแผนภูมิ การรายงานหน้าชั้น  การจัดอภิปรายความรู้  การแสดงบทบาทสมมติ  และการแสดงละคร  ฯลฯ  ผู้เรียนจะเกิดการเรียนรู้  ทักษะกระบวนการทำงานแบบมีส่วนร่วม  มีความเป็นประชาธิปไตย รู้จักบทบาท  หน้าที่  แบ่งความรับผิดชอบ  ปรึกษาหารือ  ติดตามผล  ประเมินผลงาน  และบูรณาการความรู้จากหลายวิชา
  1. การเรียนรู้กระบวนการเรียนรู้  เป็นการเรียนรู้ลีลาการเรียนรู้และความถนัดในการเรียนของตนเอง  ผู้เรียนจะรู้กระบวนการเรียนรู้จากการที่ผู้สอนเปิดโอกาสและจัดสถานการณ์ให้ศึกษาหาความรู้ด้วยตนเองเป็นรายบุคคลและเป็นกลุ่ม  เกิดการศึกษาวิเคราะห์และสรุปผลการเรียนรู้  เพื่อนำไปใช้เป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ต่อไป
  1. การเรียนรู้เพื่อนำความรู้ไปประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิตและการประกอบอาชีพเป็นการนำความรู้ที่ได้จากการเรียน  เช่น  ทักษะการสื่อสาร  ทักษะการแสวงหาความรู้  ทักษะการปฏิบัติงาน  ทักษะการวิเคราะห์  ทักษะการสังเคราะห์  ทักษะการจัดการ  ทักษะการดำเนินชีวิต  และการมีมนุษยสัมพันธ์มาประยุกต์ใช้ในการดำเนินชีวิต  และการประกอบอาชีพ

 กระบวนการเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้ให้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ภาษาไทย ผู้สอนจะต้องศึกษา วิเคราะห์ จุดหมายของหลักสูตร และมาตรฐานการเรียนรู้ภาษาไทย รวมทั้งเอกสารประกอบหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ในส่วนบทบาทของผู้สอนจะต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจากผู้บอกความรู้แก่ผู้เรียนเป็นผู้สนับสนุน เสริมสร้างประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีความหมายแก่ผู้เรียน โดยดำเนินการดังนี้

1.เลือกรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้สอนสามารถคิดค้นรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่หลากหลาย และเหมาะสมกับผู้เรียน เช่น กิจกรรมการเรียนรู้แบบทดลองแบบโครงงาน แบบศูนย์การเรียน แบบสืบสวนสอบสวน แบบอภิปราย แบบสำรวจ แบบร่วมมือ เป็นต้น

2.คิดค้นเทคนิคกลวิธีการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ผู้สอนสามารถคิดค้นรูปแบบการจัดกิจกรรมการเรียนรู้รูปแบบอื่น ๆ และนำมาใช้ให้เหมาะสมกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความรู้ ความสามารถด้านเนื้อหา ความสนใจและวัยของผู้เรียน ความสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละช่วงชั้น เวลา สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ และสภาพแวดล้อมของโรงเรียนและชุมชน

3.จัดกระบวนการเรียนรู้ การจัดกระบวนการเรียนรู้มีหลายรูปแบบ ผู้สอนสามารถเลือกนำมาใช้ในการเรียนรู้แบบอื่น ๆ และนำมาใช้ให้เหมาะสมกับปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความรู้ ความสามารถด้านเนื้อหา ความสนใจและวัยของผู้เรียน ความสอดคล้องกับมาตรฐานการเรียนรู้แต่ละช่วงชั้น เวลา สถานที่ วัสดุอุปกรณ์ และสภาพแวดล้อมของโรงเรียนและชุมชน

3.1 การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน เป็นการจัดประสบการณ์ตรงให้ผู้เรียนได้ปฏิบัติเหมือนกับการทำงานในชีวิตจริง ให้รู้วิธีการแก้ปัญหาด้วยตนเองอย่างเป็นระบบ รู้จักวิธีการวางแผน คิดวิเคราะห์ ประเมินผลการปฏิบัติงานได้ด้วยตนเอง และฝึกการเป็นผู้นำ และผู้ตามลักษณะของโครงงาน เป็นเรื่องของการศึกษา ค้นคว้าทดลอง ตรวจสอบ สมมติฐาน โดยอาศัยการศึกษา วิเคราะห์  ใช้ทักษะกระบวนการ

3.2 การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการกลุ่มสัมพันธ์ เป็นวิธีการหรือพฤติกรรมที่จะช่วยให้การดำเนินงานเป็นกลุ่มเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คือ ได้ผลงาน ความรู้สึกและความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ร่วมงาน ลักษณะของการสอนแบบนี้เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เป็นโอกาสให้ผู้เรียนมีโอกาสเข้าร่วมในกิจกรรมการเรียนอย่างทั่วถึง ยึดกลุ่มเป็นแหล่งความรู้ที่สำคัญ เปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้ปรึกษาหารือแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ช่วยให้เกิดการเรียนรู้พฤติกรรมของตนเองและผู้อื่น ผู้เรียนค้นหาคำตอบได้ด้วยตนเองจนสามารถนำความรู้ ความเข้าใจจากการปฏิบัติงานไปใช้ในชีวิตประจำวันและอยู่ในสังคมได้อย่างสันติสุข

3.3 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาความรู้  ความคิด มีวิธีการหลากหลายวิธีการหนึ่งคือ การใช้คำถาม การตั้งคำถาม โดยใช้หมวกความคิด 6 ใบ เป็นการใช้คำถามอย่างสร้างสรรค์  กิจกรรมที่พัฒนาทักษะความคิดในการเรียนรู้ภาษาไทย ผู้สอนจะต้องใช้คำพูดและวิธีการต่าง ๆ กระตุ้นให้นักเรียนคิดลงมือปฏิบัติ ประเมิน ปรับปรุง แก้ไข พัฒนางานของตน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เช่น กิจกรรมการอภิปราย แก้ไข พัฒนางานของตน  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน เช่น กิจกรรมการอภิปราย การวิเคราะห์ การวิจารณ์  การค้นคว้าการทำโครงงาน ฯลฯ นอกจากนี้ผู้สอนยังต้องสอดแทรกคุณธรรมในกระบวนการคิดควบคู่ไปด้วย เช่น ความรับผิดชอบ ความอดทน ความเพียรพยายาม นอกจากนี้ควรจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนใช้ความคิดอย่างมีวิจารณญาณในการแก้ปัญหา การตัดสินใจ การวางแผน ดำเนินชีวิตในอนาคตเพื่อให้อยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างมีความสุข

3.4 การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร ครู

ผู้บริหาร  ผู้ปกครอง ตลอดจนชุมชนมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสาร โดยการจัดกิจกรรมร่วมกัน เพื่อให้ผู้เรียนมีสมรรถภาพในการใช้ภาษาทั้งการฟัง การพูด การอ่าน และการเขียน ด้วยการจัดกิจกรรมในห้องเรียน ในโรงเรียน และในชุมชน เช่น การเล่าเรื่อง การอภิปราย การวิจารณ์ การโต้วาที การคัดลายมือ การเขียนเรียงความ การทำโครงงาน การประกวดการอ่าน การศึกษาค้นคว้า การแข่งขันตอบคำถาม การอ่านทำนองเสนาะ

3.5 การพัฒนาการเรียนรู้หลักการใช้ภาษา จะทำให้ผู้เรียนเข้าใจธรรมชาติของ

ภาษาและวัฒนธรรมไทย เกิดความตระหนักว่าภาษามีความสำคัญและมีพลัง กิจกรรมการพัฒนาการเรียนรู้หลักการทางภาษา จำเป็นต้องจัดควบคู่และสัมพันธ์กับกิจกรรมพัฒนาทักษะการใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารทุกกิจกรรม

3.6 การพัฒนาการเรียนรู้วรรณคดีและวรรณกรรม เป็นการเรียนรู้เรื่องราวที่

สะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตของคนไทยเพื่อประโยชน์ในการดำรงชีวิต โดยปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน การจัดกิจกรรมจึงควรเน้นให้ผู้เรียนใช้ทักษะภาษาเพื่อเรียนรู้เนื้อหาสาระด้วยการอ่านพิจารณา วิเคราะห์ วิจารณ์ ประเมินค่าวรรณกรรมและวรรณคดีอย่างมีเหตุผล มีการนำเสนอความเข้าใจ ความซาบซึ้ง ข้อคิดและประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การรายงาน การจัดแสดง การสร้าสรรค์วรรณกรรมทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง ฯลฯ ทั้งนี้จะเกิดผลทำให้ผู้เรียนมีนิสัยรักการอ่านและการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง เป็นแนวทางในการผลิตผลงานเพื่อพัฒนาตนเองและสังคม

3.7 การพัฒนาการเรียนรู้ภูมิปัญญาทางภาษา ช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจวิถีชีวิตและ

ศิลปะการใช้ภาษาของคนในท้องถิ่น การจัดกิจกรรมจำเป็นต้องให้ผู้เรียนใช้ทักษะภาษาเพื่อการเรียนรู้ เช่น การสัมภาษณ์ การรายงาน การทำโครงงาน การจัดการแสดง เป็นต้น โรงเรียนและชุมชนจะต้องร่วมกันจัดกิจกรรมให้ผู้เรียนใช้แหล่งเรียนรู้ในท้องถิ่น เพื่ออนุรักษ์และพัฒนาภูมิปัญญาทางภาษา  วิธีการที่กล่าวมาข้างต้นนี้ ผู้สอนสามารถนำมาใช้ได้อย่างกว้างขวาง  โดยใช้เทคนิควิธีการอย่างหลากหลายที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ คือ ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนและเรียนอย่างมีความสุข ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสภาพความพร้อมของผู้เรียนและธรรมชาติของสาระการเรียนรู้ที่เรียน เพื่อให้บรรลุตามมาตรฐานการเรียนรู้ที่กำหนดไว้